Tag Archives: film

LUCY : she knows everything

มาตรฐาน

LUCY1

คนเรามีความทุกข์เพราะความไม่รู้

ไม่รู้ จึงทำให้วิตกกังวล หวาดกลัว เนื่องจากไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เข้าใจว่าเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะยุติสิ่งนั้นลงอย่างไร อะไรคือวิธีแก้ไขที่ดี ยังกลัวได้อีกเพราะไม่รู้ว่าแล้วต่อจากวิกฤตินี้จะมีอะไรอีก จะซ้ำรอยเดิมหรือจะเป็นปัญหารูปแบบใหม่

เราหวั่นไหวเพราะควบคุมไม่ได้ทั้งตัวเองและคนอื่น เราไม่อาจจัดการแก้ไขรูปลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่กำเนิดด้วยตัวเอง หากไม่พอใจกับรูป เราจะทุกข์เพราะมันไม่เป็นอย่างใจ ติดอยู่กับบ่วงของการดื้นรนหาวิธีจัดการเปลี่ยนรูปกายของเราให้เป็นตามที่ต้องการ กับคนอื่น เราบังคับเขาไม่ได้เลย บังคับให้เขาสวย หรือผอม หอม สะอาด ให้พูดเพราะๆ กับเรา ชอบเหมือนเรา เลิกชอบผู้หญิงคนนั้น หยุดเป็นเกย์ หรือแม้แต่บังคับให้เขาชอบเรา ไปไหนกับเรา ซื่อสัตย์ เอาใจและทำตามที่เราต้องการเสมอ ..ไม่มีอะไรที่บังคับหรือควบคุมได้เลย

เราเจ็บปวดเพราะสรรพสิ่งไม่เป็นไปดังหวัง เพราะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เราทุกข์เพราะสติปัญญาเรามีแค่นี้ หยั่งรู้แค่นี้ เข้าใจแค่นี้ และเราเกรงว่าศักยภาพในการแก้ไขปัญหาของเรามีเพียงแค่นี้ เราไม่กล้าที่จะฝันถึงการแก้ปัญหาหรืองานการที่ยิ่งใหญ่ใช้พลังมากกว่าเดิม เราไม่กล้ามั่นใจในศักยภาพของตัวเราเอง

เกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร บางคนยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้เลย

มีการสันนิษฐานกันว่าที่เรารู้อยู่แค่นี้เพราะเราใช้ประสิทธิภาพของสมองได้เพียงแค่ 10% ยังน้อยกว่าโลมาที่ใช้สมองได้ถึงประมาณ 20% ของประสิทธิภาพทั้งหมด มันจึงสามารถอ่านข้อมูลรอบตัวจากคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาจากวัตถุต่างๆ รอบตัวทั้งที่อยู่ใกล้และไกลออกไป

แต่เมื่อมนุษย์คนหนึ่งมีเหตุบังเอิญให้ได้พัฒนาประสิทธิภาพของสมองจนเต็ม 100% ในเวลารวดเร็ว เธอจึงได้พบความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง

เริ่มต้นที่ความทรงจำ ลูซี่ระลึกได้ถึงความเจ็บปวดตอนผิวกายและกระดูกปริขยายเพื่อเติบโต ความรู้สึกเมื่ออายุขวบกว่าๆ สัมผัสจากขนอันนุ่มนิ่มของแมว ไปไกลถึงสภาพแวดล้อมในห้องอันอบอุ่น (ในกายแม่) และไกลยิ่งกว่านั้น จากนั้นก็เริ่มควบคุมการซ่อมแซมและสร้างร่างกายของตัวเองได้ ควบคุมการเผาผลาญได้ ลูซี่รู้และเข้าใจเรื่องที่เราไม่รู้และไม่เข้าใจมากขึ้นทีละน้อย ในที่สุดเธอจึงก้าวข้ามผ่าน พ้นความทุกข์แบบที่เรามี เพราะความรู้ ความเข้าใจ เธอควบคุมได้ ทั้งตัวเองและคนอื่น จึงไม่สนใจอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันไม่จีรัง ลูซี่ไม่กลัว ไม่หวั่นไหว เธอมีปัญหาใหญ่ที่ยังไม่รู้จะทำอย่างไรดี

สมองที่ใช้ได้เกือบเต็ม 100% ของประสิทธิภาพ บอกให้ลูซี่รู้ว่าเธอเกิดขึ้นอย่างไร รู้ว่าต้องสลายไปในไม่ช้า แต่กระนั้นเธอยังให้คำตอบกับตัวเองไม่ได้ว่าควรทำอะไรกับสิ่งที่รู้ ลูซี่ถามคำถามนี้กับศาสตราจารย์นอร์แมน เจ้าของสมองที่มีประสิทธิภาพเพียง 10% ซึ่งให้คำตอบเรียบง่าย

If you’re asking me what to do with all this knowledge you’re accumulating, I say, pass it on … just like any simple cell, going through time.

“เหมือนสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่มีเพียงเซลเดียว พวกมันถ่ายทอดสิ่งที่รู้”

แล้วลูซี่ก็ทำตามนั้น ก่อนที่จะสลายหายไป

ฉันดู LUCY ของ Luc Besson ด้วยความทึ่ง ค่อนข้างเชื่อ (ความคิดของเบซซง) ว่าคนเราสามารถ Enlighten ได้ (ในหนัง ศจ. นอร์แมนเรียกว่าเป็น knowledge ที่ accumulating) แต่ถ้าถามว่าคนอย่างเราจะไปได้ถึงขั้นนั้นไหม ฉันอยากจะคิดว่าได้ แต่คงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ต้องไม่ธรรมดา ควรต้องใช้ความเพียรและมานะบากบั่นกว่าธรรมดา (คงจะหวังฟลุ๊คแบบลูซี่ได้ยาก)

แต่ระหว่างนี้ถ้าสามารถใช้ประสิทธิภาพของสมองได้เต็ม 10% ในการทำความเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น “ไม่เที่ยง” ไม่มีอะไรพ้นไปจากความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีอะไรควบคุมได้ ยอมรับมันดังที่มันเป็นจริงๆ เช่นที่เราเห็นอยู่ อย่างไม่หลอกตัวเอง

หยุดยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่เป็นของเราอย่างแท้จริง ก็น่าจะพบว่าไม่จำเป็นต้องทุกข์เลย เพราะแม้แต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น

หมายเหตุ:
-ฉันว่า Luc Besson เป็นผู้กำกับอีกคนที่ฉันรัก ในความบู๊สนั่นเลือดสาด เขาจะแนมฉากดราม่าซึ้งๆ ไว้เนียนๆ เสมอ (คิดถึง Leon ไหม?)
-สการ์เล็ต โจแฮนสัน นั้นสุดยอด นอกจากเก่งในงานของตัวเองแล้วยังเป็นผู้หญิงเซ็กซี่ที่แค่ได้ยินเสียงก็รู้สึกแล้ว (ว่าแล้วก็กลับไปเปิด Her) ฉันชอบผู้หญิงหุ่นแบบเธอ ไม่ต้องสูงยาวสกินนี่มาก และอวบอึ๋มในทุกสัดส่วน (ว่าแล้วกลับไปเปิด A Love Song for Bobby Long) ชอบแม้กระทั่งตอนน้องสวมยีนกับคอนเวิร์ส ดีใจด้วยที่น้องคลอดลูกสาว แม่หนูนั่นคงจะสวยไม่แพ้แม่หรอก
-หนังเรื่องนี้มีฉาก CG เยอะ ซึ่งฉันดูแล้วบอกกับตัวเองว่า นี่คงเป็นแนวยุโรปสินะ ถ้าเป็นหนังฮอลลีวูดคงมหัศจรรย์พันลึกกว่านี้เป็นอันมาก (เอ๊ะหรือเราจะชินกับอเมริกันสไตล์เกินไป?)
-อยากซื้อแผ่น

Ain’t Them Bodies Saints: ความงดงามของความหวัง และความจริงของความรัก

มาตรฐาน

ain't them bodies saints

หากเราจะอนุมานว่าคนดูทุกคนล้วนมีประสบการณ์กับความรักมาแล้วทั้งสิ้น ย่อมเป็นโจทย์โคตรยากสำหรับคนทำหนัง ว่าจะทำอย่างไรให้คนดูยอมรับได้ว่าเรื่องรักที่เล่านั้นทั้งลึกซึ้งและกินใจ สมกับเป็นหนังที่เล่าถึงความรัก

ฉันได้ไปดูหนัง Ain’t Them Bodies Saints รอบสื่อฯ เมื่อคืน โดยไม่ได้สำเหนียกว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังรักขนาดนี้ นิ่งอึ้งไปเหมือนกันกับการใช้เวลาเล่าเรื่องอย่างเนิบช้า ด้วยมุมกล้องสวยงาม ไดอาลอกที่ค่อยๆ เผยให้เห็นรายละเอียดในของความสัมพันธ์และความเหนียวแน่นของความผูกพันของคนคู่หนึ่ง

ลีลาการเล่าแบบนี้ ถ้าไปเจอคนดูใจร้อนหรือมาพร้อมความคาดหวังว่าหนังควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็น่าจะรู้สึกขัดใจไม่น้อย ฉันเองก็รู้สึกบ้าง แต่ด้วยความที่หนังสวยเหลือเกิน สวยจนไม่อยากพลาดซีนต่อไป อยากรู้ว่าผู้กำกับกับผู้กำกับภาพจะเอาอะไรมาให้ดูอีก แม้จะง่วงแต่ก็หลับไม่ลง นั่งเงียบๆ รอดูต่อไปเรื่อยๆ จนเขาเล่าเรื่องจบ

นี่ไม่ใช่หนังที่เล่าถึงความรัก ความผูกพัน ความพลัดพราก การดิ้นรนเพื่อจะกลับมาหาคนรัก เล่าถึงรายละเอียดของความฝันถึงชีวิตที่สมบูรณ์อันอบอุ่นไปด้วยความรัก ซึ่งที่สุดแล้วเจ้าของฝันก็ผิดหวัง พลาดจากทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่มีอยู่แล้วและที่หวังจะได้มา ไม่ใช่โศกนาฏกรรมแบบที่จะทำให้เราน้ำตาร่วงเหมือนเห็นเห็นปราสาททรายที่ตัวเองสร้างกับมือพังลงเพราะคลื่นกระหน่ำ สำหรับฉันมันเป็นหนังรักที่ทำให้เศร้าช้าไปประมาณ 12 ชั่วโมง แต่เมื่อเริ่มเศร้าแล้ว ฉันเศร้าได้ยาวนาน ลึกล้ำ และอ้อยอิ่งเป็นอันมาก

ผ่านไปเกือบวัน ภาพ เสียง และแววตาของตัวละครทุกตัวยังติดตา ไดอาลอก จังหวะ และการแสดงของนักแสดงยังจับอยู่ในใจ แปลกดีที่ฉันเพิ่งจะมาสงสารเขาพวกอย่างลึกล้ำ และเพิ่งจะร้องไห้ไปกับตัวละคร ทั้งๆ ที่หนังฉายจบไปแล้วตั้งแต่เมื่อคืน

หรือฉันสมควรจะตีตั๋วไปดูอีกครั้ง เพื่อมองให้เห็นว่ากับดักของหนังรักเรื่องนี้อยู่ตรงไหน?

Diana

มาตรฐาน

Diana

คนทุกคนต้องการความรัก
ที่มีอยู่แล้วอย่างล้นเหลือยังไม่เคยพอ นับประสาอะไรกับคนที่ไม่เคยมี

เจ้าหญิง ที่จริงแล้วก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง
ต้องการความรัก เช่นผู้หญิงคนหนึ่งพึงจะได้รับ

เธอเคยพูดติดตลก ว่าเธอมีถึงสองครอบครัว
แต่มันน่าเศร้าที่ไม่มีครอบครัวไหนรัก และต้องการเธอ

เธออยู่อย่างโดดเดี่ยว
ดูแสนสบาย พรั่งพร้อม แต่หนาวเหน็บเย็นชา ขาดความอบอุ่นจากความรัก

จนกระทั่งเธอพบกับเขา คนที่มองเธอเป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง
เขาบอกให้เธอใช้ชีวิตแบบเพลงแจซ, improvise

หัวใจของเธอเริ่มอบอุ่นขึ้นด้วยความรัก เริ่มมีความหวัง
แต่ทั้งความฝันและความหวังของเธอไม่อาจเป็นจริง เพราะที่จริงแล้วชีวิตของเธอไม่อาจ improvise

สุดท้ายแล้ว เธอจึงเป็นได้เพียง
…เจ้าหญิงผู้น่าสงสาร

หมายเหตุ:
DIANA เข้าแล้ว ถ้าคิดถึงเจ้าหญิงที่เรายังรักเสมอก็ไปดูกันเถิด
-Naomi Watts ทั้งไม่เหมือนและไม่สวยกว่าเจ้าหญิงไดอาน่า แต่นางก็เล่นดีประมาณนึงนะ
-Naveen Andrews เล่นดีมาก ขโมยซีนไดอาน่าตลอด แต่ตัวจริงหล่อกว่าเยอะอะ (หมอตัวจริงออกมาโวยด้วยว่าที่เล่าในหนังน่ะ ไม่จริงเลย เราไม่ได้กอดกันท่านั้นนน)
-ดูจบแล้วคิดว่า ถ้าไดอาน่ามีชีวิตร่วมสมัยอยู่ในยุค 3G ที่ทุกคนใช้มือถือถ่ายรูป ถ่ายคลิปกันเป็นปกติวิสัย นางอาจไม่ต้องจากเราไปเร็วเช่นนั้นหรอก

JOBS : a Man Who Changed the World

มาตรฐาน

image

คนบางคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนธรรมดา

ชีวิตของชายชื่อ สตีฟ จ็อบส์ บอกเราอย่างนั้น

ไม่ว่าจะดูหนังหรืออ่านหนังสือ เราจะได้สัมผัสเสี้ยวของชีวิต รายละเอียด เหตุ และมีผล ที่หล่อหลอมให้เขาเป็นคนยิ่งใหญ่อย่างที่เขาเป็น เรื่องราวพวกนี้นอกจากให้แรงบันดาลใจเราผู้คิดจะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าปกติสักอย่าง แล้วก็ยังเตือนใจอะไรบางอย่างไปพร้อมกัน

เรารู้เรามีดี มีพลัง มีแรงบันดาลใจ เราเชื่อเราทำได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ดาวเคราะห์ใหญ่น้อยไม่ได้หมุนรอบตัวเรา และความสำเร็จขนาดเดียวกับที่สตีฟ จ็อบส์ทำไม่ใช่จะได้มาโดยไม่ต้องแลกกับอะไร

เราดูหนัง JOBS เพื่อจะสดุดีชีวิตคนพิเศษคนนี้ และบางที เรื่องราวของเขาอาจเป็นบทเรียนล้ำค่าให้กับเด็กรุ่นหลังอย่างเรา ให้รู้จักใจเย็น รอบคอบ มองให้ทั่ว เพื่อหาวิธีเปลี่ยนโลกโดยไม่ทำร้ายใคร รวมทั้งตัวเอง

หมายเหตุ:
-ลองนึกให้ดีๆ แล้วชีวิตคนเราดราม่าจะตาย ไม่ใช่แค่ชีวิตสตีฟ จ็อบส์หรอก
-ชอบซีนเมายากลางทุ่งมาก
-แอบคิดถึงแอชตัน คุชเชอร์ เวอร์ชั่นหล่อๆ ขายาว หลังตรง เขาเล่นเรื่องนี้ได้ชนิดที่เกือบลืมเลยนะ ว่าเขาหล่อแค่ไหน
-แต่ให้ตายเหอะ แพ้น้ำตาผู้ชายอะ
-จุดนี้ถ้ามีคนบอกว่าจ็อบส์ตายแล้วไปเป็นเทพก็เชื่ออยู่นะ

Only God Forgives: กระจ่างในความมึน

มาตรฐาน

Ryan Gosling & Nicolas Winding on set of Only God Forgives

เปิดตาจ้องมอง
เปิดหูสดับเสียง
เพื่อจะทิ้งตัว ล่องไหล ลอยหลงไปตามลำธารจินตนาการเซอเรียลของผู้กำกับ

Only God Forgives ช่างเป็นหนังที่ทำให้นึกถึง No Country for Old Men อะไรอย่างนี้!

หมายเหตุ: ขอบคุณ ชิลล์ชวนชม

นกสีฟ้าใต้ชายคาบ้านเราเอง

มาตรฐาน

รูปภาพ

 

หลังจากอ่าน “โตเกียวทาวเวอร์ แม่กับผม และพ่อในบางครั้งคราว” ที่ผู้เขียน ลิลี่ แฟรงกี้ เล่าถึงชีวิตที่เติบโตมากับแม่ ซึ่งแยกทางกับพ่อ เมื่อเขาพูดถึงการมองหาความสุขของครอบครัว มีครั้งหนึ่งได้เปรียบถึงการตามหานกสีฟ้าแห่งความสุข ฉันอ่านฟุตโน้ตจากผู้แปล พบว่า นกสีฟ้าที่ลิลี่กล่าวถึงมาจากบทประพันธ์ L’Oiseau bleu (The Blue Bird) ของนักประพันธ์ชาวเบลเยี่ยม Maurice Maeterlinck ซึ่งดูเหมือนชาวญี่ปุ่นจะรู้จักนกสีฟ้านี้กันเป็นอย่างดี ฉันคิดเอาอย่างนั้นหลังจากนึกได้ว่า เมื่อนานมาแล้วเคยดูหนังเรื่อง青い鳥 (Aoitori แปลตรงตัวเลยแหละว่า นกสีฟ้า) เรื่องราวดราม่าที่เล่าถึงความสุขของแทบจะทั้งโรงเรียนที่หายไปจากการตายของเพื่อนนักเรียนมัธยมต้นคนหนึ่ง การเข้ามารับช่วงตอนกลางเทอมเลยของครูติดอ่าง (ฮิดรชิ เอเบะ ของฉันเอง) เพราะครูคนก่อนทนนักเรียนไม่ไหว โรงเรียนและครูมีความพยายามจะนำความสุขกลับมาสู่ทุกคน ซึ่งในที่สุดหนทางแห่งความสุขก็มาถึงพร้อมข้อความที่ถูกหย่อนลงบนกล่องรับความคิดเห็นชื่อ “นกสีฟ้า”

 

นึกๆ แล้วยังระลึกได้อีกว่านิสสันก็มีรถ Bluebird ยิ่งนึกออกยิ่งสนใจ ทำไมคนญี่ปุ่นผูกพันกับนกสีฟ้าเสียจริง

 

หลังจากจบโตเกียวทาวเวอร์ฯ ไม่นาน ยัังบังเอิญได้ดูหนัง Sing, Salmon Sing หนังเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นอีกเรื่องทางเคเบิล ที่พูดถึงความพยายามเต็มที่ที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และการเรียนรู้ที่จะรวมพลังทำงานเป็นทีมมากกว่าจะโชว์เก๋ โชว์เก่ง เด่นอยู่คนเดียว (โดยเฉพาะในวงประสานเสียง) ซึ่งในเรื่องนี้คณะประสานเสียงนักเรียนหญิง ม.ปลายที่เราติดตามเข้าประกวดด้วยเพลง 青い鳥 (Aoitori) อันไพเราะจับใจ (แหม เคเบิลมีแปลเนื้อเพลงให้เสียด้วย)

 

ฟังเพลงประสานเสียงและเพลงเอนด์ไตเติลในเสียงผู้ชายจบแล้วฉันก็ถึงจุดอินร่วมกับชาวญี่ปุ่นทันที  เกิดอยากจะจำลองภาพนกสีฟ้า (แห่งความสุข) ของตัวเองขึ้นมาบ้าง จึงลองวาดรูปนกเป็นครั้งแรก แล้วก็ปักลงไปบนหมวกผ้าเดนิมที่ได้มาจากตลาดที่ผ่านประจำ หลังจากดัดแปลงรายละเอียดนิดหน่อยของหมวกเรียบร้อยแล้ว

เขาว่ากันว่า นกสีฟ้า ไม่ต้องเสียเวลา และเหนื่อยกับการเดินทางออกไปแสวงไกล มองดูให้อาจจะพบว่าใต้ชายคาบ้านเราก็มีทำรังอยู่ (ลิลี่เปรียบไว้เป็นความสุขในบ้านที่มีสมาชิกครบถ้วนไง)

ฉันเองนอกจากขี้เกียจออกไปตามหาแล้ว ที่บ้านยังไม่มีรังนก เพราะมีแมวเฝ้ายามแข็งขัน (ฮา) แต่ก็ได้ปักนกสีฟ้าตัวนี้ลงไปบนหมวกเรียบร้อยแล้ว ยังไงก็หนีกันไปไม่ได้หรอกนะ

คุณนกสีฟ้าแห่งความสุข  

หมายเหตุ:
เจอแล้วจ้า Aoi Tori : The Blue Bird บทความที่เขียนไว้หลังจากดูหนังที่ multiply และได้ย้ายที่เก็บใหม่ไปไว้ที่ Blogger

The Place beyond the Pines: แอคชั่น (ดราม่า) ฮีโร่

มาตรฐาน

The-Place-Beyond-The-Pines-22

เราแต่ละคนเหมือนต้นไม้เล็กๆ ที่เติบโตขึ้นมาใต้ร่มเงาของพ่อแม่

จะโตกับพ่อแม่ ถูกพ่อแม่ตายจาก หรือจะทิ้งไปแบบอื่น โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ พ่อแม่ก็ได้ทิ้งอิทธิพลสำคัญไว้กับชีวิตที่เหลือของลูกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เช่นใน The Place beyond the Pines ที่ฉันเสี่ยงไปดูเมื่อวาน

ที่บอกว่าเสี่ยงเพราะแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้เลย ไม่ได้คลั่งไคล้ใครในบรรดานักแสดงนำ ไม่รู้จักและไม่เคยดูหนังของ Derek Cianfrance ผู้กำกับเรื่องนี้มาก่อน trailer ที่ดูไปเพื่อประกอบการตัดสินใจจะไปดูดีไหมนั้นแทบไม่ช่วยอะไร เพราะดูแล้วคิดว่าเป็นหนังแอคชั่น ซึ่งไม่ใช่แนว ดีที่เชื่อข้อความตรงไหนสักแห่งที่เขียนไว้ว่าเป็นหนัง “crime drama” ก็เลยลองเสี่ยงดู

โชคดีจากการเสี่ยง (ยิ้ม) หนังเรื่องนี้ให้ฉันทึ่งจัด เพราะไม่เคยได้ตระหนักซึ้งถึงความรักระหว่าง พ่อ-กับ-ลูกชาย ขนาดนี้ด้วยหนังเรื่องไหนมาก่อนเลย

มันไม่น่าจะใช่หนังที่ผู้หญิงดูสนุก นึกแบบนี้แล้วก็รู้สึกแก้มแดงๆ ที่ดันชอบใจวิธีการเล่าเรื่องของผู้กำกับ แม้ไม่ลืมที่จะพูดถึงผู้หญิง แต่มันไม่มีการคร่ำครวญ รีดหยดน้ำตาจากความระทมทุกข์เสียสละและความรักแบบไม่ต้องการสิ่งตอบแทน (บลาๆๆ) ของฝ่ายหญิง แต่เล่าเรื่องจากมุมมองของผู้ชายอย่างห้าวเป้ง ถ้าจะมีน้ำตา มันคือน้ำตาเท่ๆ ที่เกิดฉับพลันจากความรู้สึกประหลาดในส่วนลึกของหัวใจ หาใช่น้ำตาที่ถั่งโถม ทะลักออกมาจากความรู้สึกอัดล้นจนปริออกจากใจแบบหนังผู้หญิงบางเรื่องที่ค่อยๆ อัดความรู้สึกลงในหัวใจคนดู

ไม่แปลกเลยถ้าสาวๆ นั่งดูอย่างอึดอัด และเดินออกจากโรงมาด้วยความรู้สึกที่สรุปได้ว่า “ไม่ชอบ” ในขณะที่ฉันนั่งดูอย่างสนใจ อึ้งในตอนแรกกับโครงเส้นบางอย่างบนใบหน้าของ Ryan Gosling จากนั้นก็เริ่มสนใจการเล่าเรื่องผ่านบทที่เดาไม่ถูก การแสดงชั้นเลิศจากการตั้งใจทำงานกันทั้งนักแสดงและผู้กำกับ ลีลาแอคชั่นเป็นอย่างไรจะไม่ขอประเมิน เพราะไม่สันทัด แต่บอกได้ว่าทุกคนในเรื่องเล่นดราม่าได้อย่างน่านับถือ มุมกล้องที่ถ่ายทอดพิกัดความดราม่าก็แสนเจ๋ง บางทีแค่ดูเราก็รู้สึกเศร้าและเหงามากๆ แต่บางทีก็อยากจะอ้วกเพราะเครียดแทน

เป็นหนังที่เท่เหมือนงานแกะสลักหยาบๆ ที่ใช้ความความหยาบหรือความไม่สมบูรณ์นั่นแหละ บอกเล่าอะไรหลายอย่างกับความรู้สึกของคนดู

เสียงใครบางคนถามหลังหนังจบว่า หนังเรื่องนี้จะบอกอะไร(วะ)?

ถ้าจะฟังฉันตอบจริงๆ จากความรู้สึกส่วนตัว ฉันว่าหนังมันไม่ได้พยายามจะบอกเรื่องผลของการทิ้งขว้างลูกจนชีวิตหาดีไม่ได้ ต้องไปเป็นโจรปล้นแบงค์ การทำเกินกว่าเหตุหรือการคอรัปชั่น ปล้นเจ้าทุกข์ของตำรวจ ไม่ได้จะโพนทะนาว่าสังคมมันแย่ ฟอนเฟะ เด็กวัยรุ่นเหลวแหลก เด็กผู้ชายพี้ยา เด็กผู้หญิงแร่ด ฯลฯ อะไรเล้ย

ฉันรู้สึกว่ามันบอกกับฉันถึงความรักที่พ่อมีกับลูกชาย และลูกชายมีต่อพ่อ

ไม่ว่าพ่อจะเลวในสายตาของสังคมแค่ไหน ลูกชาย (ที่จริงลูกสาวด้วยนะ) ทุกคนก็ยังมองพ่อของตัวเองเหมือนมองฮีโร่เสมอ ถึงวันที่ได้เป็นพ่อบ้างจึงไม่ได้อยากเป็นอะไรมากไปกว่า “ฮีโร่” ในสายตาของลูก

The Place beyond the Pines คือหนังรักชัดๆ

หมายเหตุ:

The title is the English meaning of the city of Schenectady, New York, which is derived loosely from a Mohawk word for “place beyond the pine plains.” >>ตามนี้นะคะ

-อยากถามสาวๆ ที่ไปดูหนังเรื่องนี้มาตรงๆ ว่า ระหว่าง Ryan Gosling กับ Bradley Cooper คุณเลือกใคร

-ทึ่งกับ Dane DeHaan ที่เล่นเป็น Jason Glanton ไปหาข้อมูลเพิ่มพบว่าตัวจริงอายุ 27 และหล่อมาก

-คงต้องตามหาหนัง Blue Valentine มาดูแล้วสินะ

CRASH: แม้แตกต่าง แต่เราต้องการกันและกัน

มาตรฐาน
ReviewReviewReviewReviewReview   Apr 12, ’08 11:30 PM
for manois ‘s contacts

Category: Movies
Genre: Drama

หนังดราม่าเรื่องโปรดอีกเรื่อง ที่ไม่ได้มีเป็นของตัวเอง แต่ยืมเพื่อนมาเป็นชาติ ดูไปแล้วหลายรอบมาก นี่ไม่ได้ดูนานแล้ว เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกของวันหยุดยาวนานถึง ๕ วัน จึงหยิบมาเปิดอีกรอบ แก้คิดถึง

เรื่องราวในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในแอลเอ เมืองที่ไม่เคยไปสักที แต่ดูเหมือนจะเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดนี่แหละ ที่ทำให้ดิฉันรู้จักเมืองนี้ในบางแง่ดีมากกว่าอีกหลายๆ จังหวัดในประเทศไทยซะอีก 

แง่ที่ว่าคือ ด้วยความที่แอลเอเป็นดินแดนที่เจริญสูงสุด ก็เลยเป็นจุดรวมของคนหลายชาติที่อยากจะมีชีวิตที่เสรี ที่ดี เจริญเหมือนกับภาพของแอลเอ ที่นี่ก็เลยไม่ได้มีแต่อเมริกันผิวขาว และอเมริกันผิวดำ แต่มั่วไปด้วยคนต่างชาติพันธุ์ ที่ต่างคนต่างจับกลุ่มกันระแวงกลุ่มอื่นๆ ให้มั่วไปหมด

ประเด็นที่หนังเรื่องนี้พูดถึงก็คือความรู้สึกต่อการแบ่งแยก เหยียดชนชาติของคนแต่ละคนนั่นแหละ เหยียดกันไปมา ทั้งๆ ที่ต่างก็เป็นคนเหมือนกัน ก็มีความต้องการเหมือนกัน ต้องการความรักเหมือนกันทั้งนั้น 

ที่จริงแล้วการจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเหยียดสีผิวนี่เป็นอะไรที่เหมือนยาดำในสังคมอเมริกัน เพราะแท้ที่จริงในใจ แต่ละฝ่ายต่างก็ระแวงกันเองอยู่ไม่น้อย แต่ครั้นจะให้แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นฝ่ายไหนฝ่ายหนึ่งมากไปคนวิจารณ์ก็อาจจะซวยได้ จะพูดแต่ละทีจึงต้องวางแผนให้ดี ไม่งั้นมีแต่เสียกับเสีย ยิ่งถ้าเป็นนักการเมืองยิ่งต้องคิดให้หนัก

ดิฉันจึงรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ทำดี เขาไม่ได้ใช้คำพูดชี้นำ แต่ให้เรื่องราวแต่ละเรื่องในหนังสร้างความรู้สึกบางอย่างในใจคนดูอย่างเนียนๆ 

ดูหนังเรื่องนี้จบแล้วดิฉันก็เลยรู้สึกถึงธรรมะข้อที่ว่าด้วยพรหมวิหาร ๔ ธรรมะของผู้ครองเรือน ที่ประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา 

ก็ลองนึกดูสิว่า ถ้าเราทุกคนบนโลกมีความเชื่อมโยงกันอย่างประหลาด ถ้าความจริงข้อนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ แทนที่จะมามัวแบ่งเขาแบ่งเรา ตั้งป้อมระวัง ระแวงกัน ทำไมไม่เปิดใจเข้าหากัน ไม่เมตตาต่อกัน รักกันเข้าไว้ล่ะ?

ภาคผนวก 
๖ ซีนเรียกน้ำตาจาก Crash

๑. “Keep your fucking hands off me.” 
เพราะความอดสูใจที่ได้เห็นภรรยาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลวนลามด้วยการล้วงเข้าไปใต้กระโปรงต่อหน้าคนเป็นสามี

๒. “No!, Get away from me.”
เพราะว่าผู้หญิงที่โดนลวนลามเมื่อคืน ต้องมาตกอยู่ในสถานการณ์สุดคับขัน และคนเดียวที่ช่วยได้ ดันเป็นไอ้เจ้าหน้าที่จอมล้วงคนเมื่อคืน

๓. “It’s OK, daddy.”
เพราะด้วยความรักและไร้เดียงสาทำให้ลูกสาววิ่งมาบังพ่อไว้จากการจ่อยิงระยะเผาขน แต่คนดูไม่รู้หรอกว่าลูกกระสุนมันเป็นลูกกระสุนหลอก ดูครั้งแรกน้ำตาเลยกระจายเลย แต่ครั้งต่อๆ มาตาก็ยังรื้นๆ นะ 

๔. “It’s you.”
คำพูดที่แม่ผู้สูญเสียลูกชายคนเล็กบอกกับลูกชายคนโต ที่ปลอบแม่ว่าจะหาคนฆ่าน้องมาให้ได้…ไม่มีเหตุผลอื่น นอกจากความสะเทือนใจ 

๕. “You are the best friend I ever had.”
นี่ก็สะเทือนใจอีก เพื่อนแท้ เค้าว่าให้ดูกันเมื่อยามยากจริงๆ ด้วย

๖. “Hi, I love you” 
ไดอาลอกตอนรับสายภรรยาของสามีในข้อ ๑ ฟังแล้วอิ่มใจจนน้ำตาซึม 

๖.๑ ชอบเพลง Maybe Tomorrow ของ Stereophonic จัง

My Blueberry Nights: ยิ้มได้ หลังร้องไห้ ๑ ครั้ง

มาตรฐาน
ReviewReviewReviewReview   Mar 24, ’08 10:43 PM
for manois ‘s contacts

Category: Movies
Genre: Independent
ดูเหมือน My Blueberry Nights จะเป็นหนังที่ี่ไม่ได้ทำให้เสียน้ำตาจนเพลีย เอาแค่พอตาเปียก แล้วก็จบด้วยรอยยิ้ม

ตาที่เปียก ไม่ได้เปียกเพราะสะท้อนใจกับความเป็น Blueberry Pie ขายไม่ออกของตัวเอง 

แต่ร้องให้กับการเพอร์ฟอร์มที่กินใจของ ราเชล ไวสซ์ ในฉากในบาร์ กับเพลงบลูส์เพลงนั้น ซึ่งเป็นตอนที่เธอเสียคนที่รักที่สุด ผู้เป็นส่วนสำคัญในความทรงจำของเธอไป

และมายิ้มได้ในตอนจบ กับจูบ-จูบนั้นของ จูด ลอว์

หนังเรื่องนี้เล่าถึงการเดินทางของอลิซาเบธ (นอร่า์ โจนส์ เจ้าของเสียงร้องกังวานใสในเพลง Come Away with Me และ Don’t Know Why ลูกสาวคนสวยของระวี ชังการ์ มือซีตาร์ที่จอห์น เลนนอนไปฝากตัวเป็นศิษย์ ) คุณจะคิดว่าเธอหนีไปเพื่อทำใจก็ได้ หรือถ้าจะคิดว่าเธอเดินทางเพื่อแสวงหาตัวตนที่แตกสลายพลัดพรายไปหลังชายคนรักทำให้หัวใจบาดเจ็บก็ได้ ดิฉันว่าไม่ผิดหรอก

แต่ระหว่างสามร้อยกว่าวันที่อยู่ไกลจากนิวยอร์ก (ที่ที่มีี่เจอรีมี่ ผู้ชายแปลกหน้าผู้ี่ก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของเธอ) ทำให้เธอได้พบกับ ๒ ความรักที่ลึกซึ้งกินใจ ซึ่งอาจมีส่วนนำทางให้เธอกลับมาที่คาเฟ่ของเขาอีกครั้ง 

เพื่อจะได้พบว่า ขวดโหลใส่บรรดากุญแจไขประตูหัวใจที่รอคอยคนมารับกลับไป กลายเป็น
แจกันดอกไม้ไปแล้ว

อะไรทำให้คุณพระเอกทิ้งกุญแจใจเหล่านั้นไป โปรดไปหาคำตอบในโรงกันเอง 

สำหรับดิฉันเอง แม้ไม่เคยให้กุญแจห้องกับใคร แต่ขอสารภาพว่า แรกๆ หลังตัดสินใจปล่อยเขาไปใหม่ๆ นั้น พักใหญ่ๆ เลย ที่อดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึงการกลับมาโดยมีเขารออยู่ 

ตลกดีที่เมื่อเวลาผ่านไป แค่คิดเล่นๆ ว่าถ้าเปิดประตูผางแล้วเจอเขานั่งรออยู่จะเป็นไง-ก็เครียดแล้ว

หมายเหตุ
๑. ดูหนังของ Wong Kar Wai มาหลายเรื่อง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า My Blueberry Nights เหมือน Chung King Express จัง แล้วบทของพระเอกบางตอนน่ะ เหมือนจะเปลี่ยนให้พี่เหลียง เฉา เหว่ย มาเล่นแทนได้เลย
๒. ยังรัก In the Mood for Love เหมือนเดิม (พูดแล้วคิดถึงจัง)
๓. ทั้ง นาตาลี พอร์ตแมน และราเชล ไวสซ์ เจ๋งมากๆ อาจฆ่านอร่า โจนส์ได้ทุกเมื่อ
๔. รู้สึกว่า เมื่อเขาสวมวิญญาณของเหลียง เฉา เหว่ย ในหนังของหว่อง คาร์ ไว จูด ลอว์ ดูน่ารัก น่าหลงใหลมากกว่าครั้งไหนๆ ที่เคยเห็น
๕. แม้เมื่อเทียบกับขนมหวานอื่นๆ ในตู้แล้ว Blueberry Pie อย่างดิฉันจะขายไม่ออกเพราะคนมักเลือกช็อกโกแลตเค้ก หรือชีสเค้กก่อน แต่ดิฉันว่าอาหารมัน Selects คนกินน่ะ ใครไม่ชอบกินก็อย่ามากิน
ใครชอบกิน ก็กินให้อร่อย แค่นั้นเอง

The Kite Runner: For You, I Will

มาตรฐาน
  Mar 9, ’08 9:31 PM
for everyone

Category: Movies
Genre: Drama
ได้ดูหนังเรื่องนี้ที่โรงหนังสยาม 
ชอบดูหนังที่โรงสยามกับสกาล่ามาก เพราะโรงมันใหญ่ มีที่นั่งดูสบายๆ มากกว่าโรงเล็กๆ ที่ต้องแย่งซื้อตั๋วแถวหลังตรงกลางๆ เข้าไว้ 
คราวนี้ดูคนเดียว ไม่มีึคนนั่งข้างหน้า สบายตา แต่ก็เขินนิดๆ เวลาร้องไห้ (ถ้ามาดูกับเพื่อนจะร้องได้อย่างไม่มีเขิน-อาจถึงขั้นสะอื้น)

หนังเล่าเรื่องย้อนไปในปี ‘๗๐s ช่วงสงครามเย็น แฟชั่นกำลังเป็นฮิปปี้กางเกงขาบาน ขับฟอร์ดมัสแตงเสียงกระหึ่ม ตอนนั้นกรุงคาบูล อัฟกานิสถานยังสงบสุข เห็นได้จากชีวิตชีวาของตลาด และกิจกรรมของผู้ใหญ่ 
เมืองนี้คงจะมีลมดี เพราะเด็ก ผู้ชายเค้าเล่นว่าวกันอย่างสนุกสนานอยู่ทั่วเมือง ทั้งบนพื้น แล้วก็บนหลังคาตึก มีการรบกันเล็กๆ ด้วยการตัดสายป่านของอีกฝ่าย ว่าวใครขาด คนนั้นก็แพ้ 

และเพื่อให้สมศักดิ์ศรีของผู้ชนะ ก็ควรจะต้องเก็บว่าวที่ตัวเองพิชิตมาได้เอาไว้ด้วย

มีเด็กผู้ชายอยู่สองคน มีฐานะต่างกัน เพราะคนหนึ่งเป็นลูกนาย (อาร์มีร์) อีกคนเป็นลูกบ่าว(ฮัสซัน) สองคนนี้รักกันมาก ยิ่งฮัสซัน ทั้งที่ตัวกะเปี๊ยกแค่นั้น แต่ก็ทั้งรัก ภักดี และ sacrificed ตัวเองเพื่อเพื่อนสุดๆ ไม่ว่าอาร์มีร์จะทดสอบความภักดีของเขากี่ครั้ง ฮัสซันก็ยังให้คำตอบที่หนักแน่น และมั่นคงเหมือนเดิม

มีตอนหนึ่งที่ฮัสซันวิ่งไปเก็บว่าวที่ถูกตัดขาดและกำลังลอยตามลมให้อาร์มีร์ เขาวิ่งไปคนละทางกับเด็กอื่นๆ อาร์มีร์สงสัยว่าทำไมไม่ไปตามเก็บว่าวให้ ฮัสซันตอบว่า เขารู้ว่าเดี๋ยวมันจะลอยมาทางนี้ และถ้าอาร์มีร์อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นว่าวอีกกี่ตัว เขาก็จะเก็บมาให้อาร์มีร์ให้ได้ (เริ่มซึ้งแล้วซี)

เล่าถึงความรักและผูกพันของสองเพื่อนอีกนิดหนังก็ปล่อยตัวร้ายออกมา เป็นเด็กวัยรุ่นหัวรุนแรงที่เป็นพวกแบ่งแยกสีผิวและชนชั้น พวกนี้คอยแกล้งสองเพื่อนรัก เพราะเขม่นอาร์มีร์ซึ่งเป็นลูกโทนของคนมีตังค์ นักเรียนนอกหัวก้าวหน้าประจำกรุงคาบูล แต่ดันมาคบใกล้ชิดสนิทสนมกับฮัสซัน ซึ่งเป็นพวก ฮาซาร่า (เข้าใจว่าเป็นชนกลุ่มน้อยมาจากภูเขา-อะไรอย่างนั้น)

ไอ้ ๓ วายร้ายนี้เอง ที่ดักทำร้ายฮัสซันในวันเปิดศึกแข่งว่าวของเมือง ที่ฮัสซันดันอาร์มีร์ให้พิชิตเด็กอื่นๆ ในเมืองสำเร็จ แล้วก็วิ่งไปตามเก็บว่าวตัวสุดท้ายที่ตัดสายป่านได้
และไปจนตรอกต่อหน้า ๓ วายร้ายนี่

ไม่คาดคิดมาก่อนว่า (ด้วยความเคารพ ดิฉันไม่เคยอ่านนิยายและไม่เคยรู้เรื่องย่อมาก่อน) ว่ามันจะทำร้ายฮัสซันอย่างนี้ ไม่น่าเชื่อว่าสังคมมุสลิมจะมีผู้ชายข่มขืนผู้ชายด้วย 
พูดให้ถูกคือเด็กผู้ชายข่มขืนเด็กผู้ชาย แถมบอกเพื่อนว่าอย่างนี้ไม่บาป แต่มันคือการลงโทษ

เรื่องมันบัดซบจริงๆ
และมันบัดซบยิ่งขึ้นเมื่ออาร์มีร์เห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง แต่ไม่ได้พยายามจะช่วยเพื่อน เพราะเขา ‘ขลาด’ เกินไป

หลังจากนั้นความสัมพันธ์ก็มีรอยร้าว ฮัสซันรู้หรือเปล่านะว่าอาร์มีร์เห็น-ไม่รู้เหมือนกัน แต่อาร์มีร์พยายามสร้างกำแพงปกป้องความรู้สึกของตัวเอง เขาทำตัวห่างเหิน ทราบว่าเพื่อนป่วยก็ไม่ไปเยี่ยมเหมือนเคย แถมยังเลวร้ายถึงขั้นป้ายสีว่าเพื่อนขโมยของ จนในที่สุด พ่อลูกคู่นี้ก็ขออพยพตัวเองออกไปจากบ้าน

หลังจากนั้น รัสเซียก็บุกคาบูล 
พ่อพาอาร์มีร์หนีเพราะรู้ตัวดีว่าด่าคอมมิวนิสต์ไว้มาก 
ตอนอยู่บนรถบรรทุกข้ามแดนไปปากีสถาน มีทหารรัสเซียเรียกให้หยุด แล้วก็สั่งให้ผู้หญิงที่กำลังอุ้มเด็กทารกที่กำลังร้องไห้โยเยลงไปหาความสำราญกัน สามีของผู้หญิงคนนั้นโกรธ แต่โกรธไม่เท่าพ่อของอาร์มีร์ ที่โกรธจนลืมตาย ลุกขึ้นยืนด่าผ่านล่าม ท้าว่าให้ยิงเขาให้ตาย ไม่อย่างนั้นจะแช่งพ่อทหารคนนั้น (อะไรประมาณนี้นะ) เกือบได้ตายจริง แต่นายของทหารผู้นั้นมาถึงก่อน และปล่อยรถบรรทุกไป 

ตอนที่รถวิ่งอีกครั้ง ทุกคนคอตก เหงื่อแตก เพราะพึ่งรอดตายมาได้ สามีของผู้หญิงคนนั้นลุกขึ้นมาคุกเข่าต่อหน้าพ่อของอาร์มีร์ เหมือนจะจูบมือแล้วพูดขอบคุณ น้ำตาดิฉันก็ไหลเป็นยกแรก

เป็นอันว่าเพื่อนสองคนพลัดพรากกันทั้งทางกายและใจ พลัดกันไปไกล เพราะคนหนึ่งไปใช้่ชีวิตพลเมืองชั้นสองในอเมริกา อีกคนยังอยู่ในภัยสงครามกลางเมืองของอัฟกานิสถาน ที่หลังจากโดนรัสเซียรังแก ก็มีพวกตอลีบานเข้ามากดขี่ต่อ อ้างว่ามาปลดแอก แต่ที่จริงก็คือการกระทำย่ำยีในอีกรูปแบบนั่นแหละ

อาร์มีร์โตเป็นหนุ่มเรียนจบ ยังมุ่งมั่นจะเป็นนักเขียน พบรัก แต่งงาน พ่อตาย นิยายได้รับการตีพิมพ์ และแล้วก็ได้รับโทรศัพท์จากเืพื่อนพ่อ คนที่ส่งเสริมพรสวรรค์และความสนใจในการเขียนของเขาตั้งแต่ครั้งยังเด็ก 

อาร์มีร์เดินทางไปปากีสถานเพราะทราบว่าเพื่อนพ่อกำลังป่วยหนัก โดยไม่่รู้ว่าเพื่อนพ่อมีจดหมายฉบับหนึ่งรอเขาอยู่

เป็นจดหมายจากฮัสซันซึ่งพยายามเรียนหนังสือด้วยตัวเอง และตั้งใจจะไม่เขียนจดหมายถึงอาร์มีร์ จนกว่าจะใช้ภาษาได้ดีพอ… ทว่า ฮัสซันได้ตายไปด้วยกระสุนพวกตอลีบันเพราะพยายามปกป้องบ้านพ่ออาร์มีร์ไว้ เมียก็ถูกยิงตายตาม เหลือลูกชายไว้ ๑ คน ตอนนี้อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า 
เพื่อนพ่ออยากให้ไปรับลูกฮัสซันกลับไปอเมริกาด้วย อาร์มีร์สงสัยว่าทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น เพื่อนพ่อเลยบอกว่า เพราะว่าพ่อของฮัสซันเป็นหมัน แต่แม่ฮัสซันท้องกะพ่ออาร์มีร์ ฮัสซันก๊อเลยเป็นน้องชายของอาร์มีร์น่ะซี

ทีนี้ อาร์มีร์เลยต้องบุกไปคาบูล อัฟกานิสถาน ไปถึงสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ซึ่งน่าอนาถใจมากที่ได้เห็นภาพเด็กๆ วิ่งเล่นทั้งที่มีขาข้างเดียวกับไม้ค้ำ ถามถึงโซรัปหลานชาย ก็รู้ว่าถูกพวกตอลีบันซื้อตัวไป (รู้เลยว่าซื้อไปทำไม เพราะไดอาลอกที่ว่า บางทีก็เลือกเด็กผู้หญิง บางทีก็เลือกเด็กผู้ชาย) และที่คนดูแลจำเป็นต้องให้ไปก็เพราะว่า ไม่มีปัญญาไปต่อกรกับคนพวกนี้ แถมเด็กอื่นๆ จำเป็นต้องมีเงินมาซื้ออาหารกินด้วย
(เศร้าว่ะ-ยูนิเซฟรู้แล้วคงร้องกรี๊ด) 

อาร์มีร์เลยจำต้องบุกไปตามตัวหลาน ณ รังของพวกตอลีบัน และได้พบในที่สุดว่า เจ้าตัวเอ้ที่ซื้อเด็กชายมาบำบัดความใคร่นั้น คือไอ้อันธพาลที่เคยทำร้ายฮัสซัน เพื่อนของเขาในวันนั้นนั่นเอง 
(จะเห็นได้ว่า โลกไม่ได้เลวร้ายอย่างเดียว มันยังกลมมากๆ อีกด้วย)

อาร์มีร์คงโดนคนจิตวิปริตคนนี้ทำร้ายจนตาย ถ้าหลานไม่ใช้หนังสติ๊ก(Made in USA) ที่ตัวเองมอบเป็นของขวัญวันเกิดให้กับพ่อของเขาตั้งแต่เมื่อครั้งกระโน้นช่วยเอาไว้

ในที่สุด อาร์มีร์ก็พาหลานผู้เงียบงันเพราะขวัญหาย ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เดินทางถึงบ้านในแคลิฟอร์เนีย หนังบอกว่าเขายอมรับ และปกป้องเกียรติของหลาน (พูดให้ลึกคือเขายอมรับผิดแล้ว ที่คราวนั้นเห็นเพื่อนโดนรังแก แต่ไม่กล้าช่วย) ด้วยการกล้าพูด (เป็นครั้งแรก) กับพ่อตาว่า หลานคนนี้เป็นลูกของน้องชาย ซึ่งเป็นน้องคนละแม่ของเขา แถมยังบอกพ่อตาอีกว่า อย่าเรียกเด็กคนนี้ว่า เด็กฮาซาราอีก เพราะว่าเขามีชื่อ ชื่อโซรัป

และอาร์มีร์ก็ได้ไถ่บาปจากใจในตอนท้าย เขาชวนให้โซรัปเล่นว่าว บอกหลานว่าพ่อของเขาเล่นว่าวเก่งแค่ไหน เมื่อพิชิตว่าวผู้ท้าประลองได้ อาร์มีร์ก็ตั้งท่าวิ่งไปเก็บว่าวตัวที่สายป่านขาดให้หลาน

โดยบอกกับเด็กชายเหมือนที่พ่อของเขาเคยบอกตัวเอง คำพูดที่ทำให้ดิฉันนึกถึงเพลงที่มีเนื้อร้องว่า

I will cross the ocean for you
I will go and bring you the moon
I will be your hero, your strength
Anything you need ….
Promise you, for you I will 

(ซึ้งกำลังดีนะ หนังเรื่องนี้)

ข้อสังเกต
๑.หนังเรื่องนี้ควรได้รางวัลสาขาเกี่ยวกับการถ่ายภาพและซีจีด้วย เพราะไม่ได้แค่นำมุมสวยๆ ของชีวิตมาให้เราดู แต่การทำภาพว่าวเริงลมสู้รบกันบนฟ้ายังทำได้ดีมากจนอยากลองหัดเล่นว่าวบ้าง
นอกจากนี้เขายังทำภาพกรุงคาบุลหลังสงครามได้รันทดจิตมากๆ คนอัฟกันน่าสงสารที่สุด
๒.ชอบไตเิติ้ลหนัง ที่ทำฟ้อนต์เลียนแบบตัวหนังสือภาษาอาหรับ
๓.ชอบยิ้มของโซรัปตอนฉากจบของหนัง 
๔.หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องดี แล้วก็จัดสัดส่วนการเล่าเรื่องต่างๆ การให้น้ำหนักกับประเด็นต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม แถมไม่ลืมแทรกอารมณ์ขันไว้อย่างถูกจังหวะ ดิฉันชอบซีนแต่งงานตามประเพณีอัฟกัน ที่ผู้ใหญ่เอากระจกมาให้บ่าว-สาวส่อง แล้วอาร์มีร์ถามเมียว่า “What do you see?” ชอบคำตอบของฝ่ายหญิง ทั้งสายตาและไดอาลอก ทำให้เรารู้้เลยว่าสองคนนี้รักกันและต้องการกันและกันขนาดไหน
๕.ชักอยากไปเดินในที่ที่ได้กลิ่นคะบับแพะมั่งแล้วสิ
๖.อาร์มีร์เคยติงพ่อตัวเองว่า ‘ดื่ม’ เป็นบาปไม่ใช่หรือ พ่อ(อาจจะเส)บอกลูกว่า สิ่งที่บาปที่สุดคือการขโมย โดยเฉพาะการฆ่าคน เพราะนั่นเท่ากับเป็นการขโมยชีวิตของเขา ทำให้เมียหมดโอกาสมีลูก ทำให้ผัวหมดโอกาสอยู่กับลูกเมีย (…ประมาณนี้นะ ความจำไม่แม่น) ไม่ว่าพ่อจะบอกอาร์มีร์อย่างนี้เพราะตัวเองเป็นนักดื่ม แต่ดิฉันชอบใจมาก และเห็นด้วยอย่างสุดๆ ว่า การขโมยเป็นบาปอย่างที่สุด
๗.มีความรู้สึกประทับใจในการทำงานของคนแปลซับไตเติ้ลมาก คราวนี้ไม่รู้สึกถูกขัดขวางอารมณ์เลย-ขอบคุณมากค่ะ

The Kite Runner (๒๐๐๗)
สร้างจากนวนิยายดัง ดังไปหลายประเทศ มีแปลเป็นภาษาไทยแล้วด้วย (เห็นว่าเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กอเมริกันนะ) โดย Khaled Hosseini 
กำกับโดย Marc Forster
เขียนสกรีนเพลย์โดย David Benioff