Monthly Archives: เมษายน 2014

จักรยานฝึกฉันให้เชื่อง (6) : อยู่ๆ ก็อยากปั่นไปบางแสน

มาตรฐาน

image

อาทิตย์ 27 เมษายน 2557

อากาศร้อนแต่เช้า ฉันเอาซีรีนออกมาปั่นไปซื้อปลาทูที่ตลาดหน้าวัดทุ่ง แล้วเลยมาหาร้านส้มตำที่ได้ยินมาว่าอร่อย เจ้าตัวคนแนะนำกินอร่อยมาตั้งแต่เด็กแล้ว ร้านยังไม่เปิด ก็เลยถ่ายรูป มาร์กตำแหน่งไว้หน่อย หลังกดชัตเตอร์ถ่ายภาพนี้มีชายชราคนหนึ่ง หลังยังตรงแต่เดินถือไม้เท้า สวมหมวก สวมเสื้อแขนสั้นผ้าเดนิมฟอก ดูเซอร์ แต่สะอาดสะอ้าน เดินมาบีบยางหลังของซีรีน หน้าตายิ้มปลื้ม แกพูดอะไรบางอย่างที่ฉันไม่ได้ยิน จึงถอดหูฟังออกแล้วถามว่า

อะไรนะคะ
อ้าวคนไทยหรอ นึกว่าญี่ปุ่น นี่รถดีนะ

คุณลุงยังคงมองซีรีนอย่างชื่นชม แล้วเริ่มเล่าว่าเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนแกก็ปั่นจักรยานเสือหมอบ แต่ตอนนี้ 74 แล้ว ไม่ได้ปั่นแล้ว
ฉันถาม: อ้าวทำไมละคะ หนูเคยเห็นคนอายุ 80 บางคนยังปั่นจักรยานอยู่เลยนะ

แล้วแกก็บอกว่าไม่ไหวหรอก ถนนเดี๋ยวนี้รถเยอะ อันตราย อู้ย สมัยก่อนถนนเส้นนี้ก็ยังไม่มีเลย แกชี้ไปที่ถนนสุขุมวิท 101/1

ตอนผมปั่นจักรยานไปบางแสนก็ยังไม่มีถนนบางนา-ตราด ไปทางสุขุมวิท ผ่านหอนาฬิกา บางปู ไปเรื่อยๆ โน่น

ปั่นเสือหมอบไปบางแสนเลยหรอคะ: ฉันถาม ทึ่งจริงๆ  แอบตื่นเต้นกับจินตนาการภาพเสือหมอบวินเทจสับถัง (จักรยานเมื่อ 50 ปีก่อนเกือบไกลเกินนึกภาพ) กับถนนสุขุมวิทในกาลนั้น

ไปคนเดียวหรือไปหลายคนคะ
โอ้ยไปกันสิบกว่าคัน ตอนนั้นผมอายุ 15-16 ตอนนี้จะขี่รถสี่ล้อลูกยังห้ามเลย แต่นี่ผมมีเมาเท่นไบค์คันนึงนะ ได้แต่ขี่เล่นอยู่ในหมู่บ้าน
เมาเท่นไบค์ก็ขี่สนุกดีนะคะ สมบุกสมบันดี: ฉันพูดอย่างเห็นใจ
คุณลุงยิ้ม และยังคงมองซีรีนอย่างยิ้มปลื้ม รถคันนี้ โดยเฉพาะล้อคู่นี้คงทำให้แกนึกถึงจักรยานคู่หูของแกเมื่อครั้งกระนั้น คุณลุงดูติดใจกับล้อ 700C ของซีรีนจริงๆ

คุณลุงไม่ได้จากไปหลังกำชับให้ปั่นระวังๆ ทั้งยังไม่ได้ออกความเห็นกับเพศของฉันเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน แกเพียงแต่พูดอีกครั้งว่า นี่รถดี พร้อมมองซีรีนด้วยรอยยิ้ม

ฉันส่งคำขอบคุณตามหลังแกไป ขอบคุณจริงๆ สำหรับแรงบันดาลใจจากคุณลุง แอบขนลุก รู้สึกดี ไม่ใช่เพราะปลื้มที่มีผู้ใหญ่วัยนี้อีกคนแล้วที่เข้ามาชื่นชมซีรีน แต่เป็นเพราะภาพหนุ่มน้อยๆ กลุ่มใหญ่บนอานเสือหมอบวินเทจปั่นเกาะกลุ่มลัดเลาะไปตามถนนสุขุมวิท มุ่งหน้าปากน้ำ มีปลายทางอยู่ที่หาดบางแสนที่สร้างขึ้นมาขึ้นในหัว

ไม่รู้ว่าตัวเองจะปั่นจักรยานไปได้จนอายุเท่าไหร่ แต่ก่อนหยุดก็อยากไปให้ถึงบางแสนสักครั้ง

จะไปทางบางนา-ตราด หรือผ่านบางปูแบบคุณลุงก็ขอให้ได้ไปถึงด้วยจักรยานสักครั้งเถอะ

on reading: แผลเก่า

มาตรฐาน

image

โตไม่ทันดูหนัง “แผลเก่า” เวอร์ชั่นตำนาน ที่ เชิด ทรงศรี กำกับ สรพงษ์ ชาตรี เป็น “ขวัญ” นันทนา เงากระจ่าง เป็น “เรียม” ออกฉายต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2521 ละเม็งละครที่เขารีเมคขึ้นมาฉายทางโทรทัศน์ก็ได้ดูบ้างไม่ได้ดูบ้าง ไม่ปะติดปะต่อ จับใจความไม่ได้ แต่ถ้าจะพูดถึงเพลงอย่าง ขวัญเรียม, แสนแสบ และลำนำแผลเก่า ละก็ ฟังแม่ร้องมาจนคุ้นหู แต่นั่นก็ห่างไปนานละ

ไม่นานมานี้ไปพบไฟล์เพลง “ลำนำแผลเก่า” ในยูทูบ เสียงร้องของไพรวัลย์ ลูกเพชร เพราะกินใจมาก ทำให้ฉันซึ่งเข้าใจว่าตัวเองยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ เกิดอยากรู้จริงจังว่าเรื่องมันเป็นยังไงนะ ทำไมขวัญถึงต้องคอยเรียม แบบ …คอยแล้ว…..คอยเล่า… เหมือนในเพลง ก็ลองหาหนังดู เจอในยูทูบอีก แต่ดูยากจัง ไฟล์ไม่ปะติดปะต่อจนจบ กระนั้นก็พอสัมผัสได้ว่า เฮ้ย ถ้า 36 ปีที่แล้วทำหนังกันได้ขนาดนี้ก็เรียกว่าเทพละ รางวัลสุดยอดภาพยนตร์โศกนาฏกรรมรักในรอบ 10 ปีรับไปเลย

จากนั้นก็อยากรู้ว่าแล้วเรื่องดั้งเดิมล่ะ เป็นยังไง ก็ถามหา ปรากฏว่ามีโชค แทบจะในทันทีนั้นก็เจอฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2537 กระดาษเหลืองกรอบไปบ้าง แต่ยังอ่านจนจบได้อย่างสมบูรณ์ และข่าวใหม่ ฉันเคยอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว! (เปิดอ่านปุ๊บจำได้เลย)

ในที่สุดก็ได้เข้าใจเ็ป็นครั้งแรกว่าทำไมเจ้าขวัญถึงคอยเจ้าเรียม

“ไม้ เมืองเดิม” สร้าง ขวัญ นักเลงลูกทุ่งปลายน้ำคลองแสนแสบให้เป็นคนซื่อสัตย์ จริงใจ รักจริง และเด็ดเดี่ยว เมื่อมันบอกว่ารักเรียมก็คือรักจริงๆ รักแบบถ้ามันมีความรักสำหรับผู้หญิงสักคนอยู่ร้อยหน่วย มันให้เรียมทั้งร้อย แถมชีวิตทั้งชีวิตของมันด้วย ยิ่งมีกำแพงอุปสรรคใหญ่หลวงคือความเป็นอริศัตรูของสองครอบครัว ไม่อาจหวังว่าจะมีพ่อกับแม่มาหลั่งน้ำสังข์ ให้ศีลให้พรในวันมงคลสมรส มันยิ่งประกาศต่อเรียมว่าความรักของมันนั้นแน่นหนัก ยอมแม้จะเซ่นเลือดสาบานต่อหน้าเจ้าพ่อไทร ดีที่นางเรียมห้ามไว้ ทั้งสองจึงเปลี่ยนเป็นแลกคำสาบานรักโดยมีเจ้าพ่อเป็นพยาน

คนอย่างขวัญเป็นคนมีศักดิ์ศรี เมื่อมันบอกว่ารัก ก็คือรักจริง มันพูดคำไหนคำนั้น เมื่อเรียมหายหน้าไปจึงออกตามหาและรออย่างไร้วิญญาณอยู่ถึง 3 ปี

ข้างเรียม เป็นผู้หญิงบ้านนอก หนังสือไม่ได้เรียนมาก พ่อแม่เลี้ยงดูตามแบบสังคมที่พ่อเป็นใหญ่ ลูกผู้หญิงไม่ได้มีความสำคัญกว่าเป็นแรงงานในบ้านและในนา เมื่อถึงเวลาก็แต่งออกไปแลกค่าสินสอดเข้ามา ไปเป็นแรงงานบ้านผัว ออกลูกออกหลาน ทำงานทำการดูแลบ้านเรือนให้ผัวไป ความรู้อะไรเรียมไม่มี เรื่องสังคมไม่ต้องพูดถึง เพราะตั้งแต่เกิดก็โตอยู่ในท้องนา ริมคลองแสนแสบ งานสังคมเดียวที่พอจะได้ออกก็คงเป็นงานวัดตามเทศกาล กระนั้นแม่ก็สอนเรื่องรักนวลสงวนตัว ให้ระวังโดนผู้ชายหลอก จุดนี้ทำให้นางถามเอากับขวัญ ด้วยกลัวขวัญจะรักไม่จริง ได้แล้วทิ้ง ขวัญจึงมีโอกาสประกาศรักต่อหน้าเจ้าพ่อไทร กลายเป็นโควตคำสาบานซิกเนเจอร์ของ “แผลเก่า” แต่กลับกลายเป็นเรียมเสียเองที่ไม่จริงจังอะไรกับคำสาบานของไอ้หนุ่มลูกทุ่งที่นางเสียความบริสุทธิ์ให้ แถมยังลืมรสรักอันร้อนแรงที่ได้รู้จักเป็นครั้งแรกในชีวิตสาวไปได้ง่ายๆ

ขวัญกับเรียมถูกจับได้ที่ศาลเจ้าพ่อ หลังจากที่สาบานกันเสร็จ ขวัญถูกฟันที่หน้า ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็น “แผลเก่า” ของขวัญ ธรรมดาถ้าโดนกันขนาดนี้ก็ต้องนอนซม ไข้ขึ้น ขวัญก็ไข้ขึ้น แต่ด้วยความคึกรัก มันลอบไปหาเรียมซึ่งถูกพ่อลงโทษด้วยการล่ามไว้ได้ในคืนที่ 2-3 เห็นเรียมถูกลงโทษแบบนั้นก็เจ็บแค้นนัก เลยออกมาดักฟันผู้ชายที่มาติดพันเรียมและเป็นสาเหตุให้มันต้องเจ็บตัวซะจนหนำใจ ก่อนจะแกล้งกลับไปนอนไข้ต่อ ให้พ้นสงสัยจากตำรวจที่มาสอบในวันรุ่งขึ้นตามคำของพยานที่ไม่ได้ถูกฟันจนตายคาที่

ก็อิตอนที่กลับมาซุ่มว่าเป็นไข้เพราะแผลโดนฟันที่หน้านี้แหละ ที่พ่อพาเรียมไปขายให้คุณนายทองคำที่บางกอก คุณนายพบว่าเรียมหน้าเหมือนลูกสาวตัวเองที่ตายจากไปจึงได้ชุบเลี้ยงอย่างดีเหมือนเป็นลูกสาวแท้ๆ เรียมอยู่สบายเสียจนไม่อยากจะกลับไปลำบากที่ท้องไร่ท้องนาบางกะปิอีกแล้ว ใช่สิ ใครจะอยาก อยู่เป็นสาวชาวกรุงแต่งตัวสวยๆ มีทองหยองใส่ วันๆ หลบอยู่ในร่มไม่ต้องกรำแดดตกกล้าเกี่ยวข้าวอยู่ในนา ทนเจ็บเวลาพ่อตี ทนปวดใจเวลาพ่อตีแม่ หรือเวลาโดนพี่ชายถากถาง รวมทั้งตอนโดนหมิ่นศักดิ์ศรีจากผู้ชายรวยกว่าที่มาชอบ (แต่ไม่รู้จะจริงใจกับเราแค่ไหน) ไม่ดีกว่าหรือ

ความสบาย และลีลาจีบของชายคนรักที่เคยเป็นคนรักเก่าของลูกสาวคุณนายทองคำ ทำให้เรียมกลายเป็นสาวชาวกรุง ลืมขวัญและรักของขวัญไปเสียสิ้นในเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่ขวัญไม่ได้อยู่สุขเลย ความร่าเริง ทะลึ่ง มีชีวิตชีวาหายไปหมด งานการก็ไม่ได้ทำเป็นชิ้นอันเพราะมัวแต่คิดจะเข้ากรุงตามหาเรียม

เมื่อถึงวันที่กลับมาเยี่ยมอาการป่วยของแม่ที่บ้านบางกะปิอีกครั้ง อย่างโอ่อ่า ด้วยเรือเร็วจากพระนคร ไม่ใช่เรือแจวอย่างชาวบ้านแถบนั้นเขาใช้กัน เรียมก็มาในลุคใหม่ที่ทำขวัญจำไม่ได้ในนาทีแรก และทำให้โกรธเกรี้ยวมากมายในนาทีต่อมา โกรธจนเรียมเสียววาบ หวั่นไหวจนทนไม่ได้ต้องหนีกลับกันในวันที่มาถึง แต่ต้องกลับมาอีกครั้งเพราะอาการแม่เพียบรอวันตาย

กลับมาครั้งนี้เรียมอยู่เฝ้าแม่ลำพัง จะด้วยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อไทร บรรยากาศเก่าๆ กลิ่นน้ำกลิ่นดิน และน้ำในคลองที่ชวนเคลิ้ม หรือคำรักสไตล์ลูกทุ่งจริงใจของขวัญที่ลอบมาพอก็ตามที่ทำให้นางอ่อนไหวระทดระทวยไปกับความรักของชู้เก่า และไม่รู้จะเอายังไงดีกับชีวิต จะเลือกทางที่เป็นไปได้ คือทำเป็นลืมรักเก่า กลับไปเป็นคุณนายที่บางกอกทั้งๆ รู้ว่าทิ้งผัว หรือจะอยู่ที่นี่ เป็นเมียไอ้ขวัญ คลอดลูกให้มัน ช่วยมันทำนา ทำมาหากิน เลี้ยงลูกกันไป ทั้งๆ ที่เป็นไปไม่ได้หรอก พ่อแม่เกลียดกันจะตายแบบนี้

ขณะที่เรียมเบลออยู่กับหนุ่มกรุงที่ขับเรือมารับกลับ ขวัญผู้บ้าระห่ำซึ่งเกิดน้อยใจเรียมขึ้นมาในบัดดลนั้นก็บันดาลความแค้นเอากับเรือลำงามลำนั้น อุตลุดกันจนถูกเขายิงเอา มันสั่งลากับเรียมซึ่งกำลังเสียสติเพราะผัวถูกยิงแล้วลากสังขารลงน้ำ หวังจะใช้ว่ายข้ามคลองไปตายหน้าศาลเจ้าพ่อไทร ผู้หลักผู้ใหญ่เพียงหนึ่งเดียวที่เป็นที่พึ่ง ให้ความอบอุ่นใจแก่มันมากที่สุด เห็นใจและปรานีมันมากที่สุดในความรู้สึก แต่ตะกายขึ้นฝั่งไม่ไหว จมอยู่ตรงนั้น รอเรียมซึ่งร้องกรี๊ดแล้วกระโจนลงน้ำตามไป เสียบคอตัวเองลงกับคมมีดที่ขวัญชูไว้ สิ้นใจตายไปตามกัน ณ สถานที่ที่เคยสาบานรัก

…..

วรรณกรรมสองเรื่องก่อนหน้านี้ คือแผ่นดินของเรา และข้างหลังภาพ ล้วนเป็นเรื่องราวของความรักที่จบเห่ลงเพราะผู้ชายเปลี่ยนไป ฉันเกือบสรุปแล้วเชียวว่าผู้ชายคือตัวปัญหาในความรัก ดีที่ได้มาอ่านแผลเก่าจึงได้รู้ว่าเออ ความสบาย เงินทอง และสังคมที่ได้รับเกียรติมากขึ้นก็ทำให้ผู้หญิงก็เปลี่ยนไปได้เหมือนกัน แต่ไม่อยากจะโทษเรียมเลย ถ้าดูกันให้ดีแล้วในเรื่องทั้งเรื่องนี้ก็มีแต่เรียมที่เป็นมนุษย์ผู้ไม่อาจเลือกชะตากรรมให้ตัวเอง ถูกคนโน้นโยนไปตรงโน้น คนนี้โยนไปตรงนี้ตลอดเวลา

แต่ก็นั่นแหละนะ ถึงขวัญกับเรียมได้อยู่ตำบลเดียวกันเหมือนเดิม ยังรักมั่นต่อกันเหมือนเดิม ฉันก็มองไม่ออกเลยว่าความรักของคนคู่นี้จะลงเอยสวยๆ ได้อีท่าไหน ก็ในเมื่อมีอุปสรรคใหญ่เป็นพ่อเป็นแม่แบบนี้

ถ้าฉันเป็นเรียม ในภาวะแบบนั้นก็ไม่รู้จะเลือกทางไหนเหมือนกัน บางทีตายไปเป็นผีเสียอาจจะมีสิทธิ อิสระและเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตมากกว่า

หมายเหตุ:
-อ่านจบบนเกาะหมาก
-อ่านจบโดยไม่ร้องไห้ แต่เชื่อว่าถ้าได้ดูหนังในโรง ต่อมน้ำตาต้องแตกแน่นอน
-แผลเก่าอาจจะเป็นหนังที่สร้างได้กินใจกว่าอ่านวรรณกรรมเรื่องแรกในประสบการณ์ของฉันนะ อยากดูดีๆ อีกทีจังเลย
-เคยมีสไตลิสต์หนังสือผู้หญิงเล่มดังทักว่าฉันหน้าเหมือนนันทนา เงากระจ่าง
-ก็ไม่รู้สินะ ฉันว่าฉันไม่สวยขนาดนั้นหรอก แต่ถ้าพูดถึงความดำแบบสาวชาวนา ก็คงพอได้ละมั้ง

on reading: ข้างหลังภาพ

มาตรฐาน

image

‘คู่กรรม’ กับ ‘ข้างหลังภาพ’ เป็นหนังที่ดูมาตลอดชีวิตจนแทบจะท่องไดอาล็อกตอนสำคัญๆ ได้ จะผิดกันบ้างตรงที่ฉันเคยอ่านคู่กรรมจบมาหลายรอบแล้ว แต่กับข้างหลังภาพ แม้จะเก็บสต็อกหนังสือมานานปี และมีในครอบครองถึง 2-3 edition แต่ยังไม่เคยหยิบมาอ่านจริงจังจนจบเลยสักครั้ง

วันนี้ สดๆ ร้อนๆ ต่อจาก ‘แผ่นดินของเรา’ ฉันอ่านจบแล้ว ไม่ไวถึงขนาดอ่านต่อจากแผ่นดินของเราจบอย่างเร็วจี๋หรอก เรียกว่าอ่านมาพร้อมๆ กันจะดีกว่า – -ฉันเป็นคนแบบนี้แหละ จับจด อยากทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่พอลงมือก็ละเลียด เชื่องช้า และไม่เคยเคี่ยวเข็ญตัวเองให้อ่านเรื่องที่อ่านค้างอยู่นั้นให้จบเป็นเรื่องๆ ไป รอบตัวก็เลยมีแต่หนังสือที่อ่านไปพร้อมๆ กัน แต่ไม่มีเรื่องไหนอ่านจบเลยเต็มไปหมด

ข้างหลังภาพ เป็นงานเขียนของ ‘ศรีบูรพา’ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักโทษการเมือง หนึ่งในตำนานของวงการวรรณกรรมไทยที่เพิ่งถูกเล่าขานเป็นนิทรรศการ “ข้าพเจ้าได้เห็นมา โลกนิยายของศรีบูรพา” ที่เพิ่งได้ไปชมในงานสัปดาห์หนังสือฯ เมื่อวานซืน ..ฉันไม่ได้กำลังเล่าชีวประวัติของนักเขียนรายนี้ แต่แค่จะเล่าว่าชีวิตของศรีบูรพาไม่ใช่ชีวิตเรียบง่าย สุขสงบ โรแมนติก งดงามประหนึ่งปูไว้ด้วยกลีบกุหลาบ แต่เป็นชีวิตของคนที่หยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นคนชัดเจนในอุดมการณ์ จึงมั่นคงและเที่ยงตรง ชนิดอะไรก็มาเปลี่ยนเขาจากสิ่งที่เขาเชื่อและเลือกจะเป็นไม่ได้ เป็นคนยืนหยัดต่อสู้แบบทระนง ศรีบูรพาโดนจำคุกในข้อหา ‘กบฏสันติภาพ’ ในปี 2495 ได้รับนิรโทษกรรมในปี 2500 แต่ก็ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศจีน และเสียชีวิตลงในปี 2517 ขณะอายุ 69 ปี

แต่ระหว่างใช้ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ แบบนี้เองที่เขาสร้างสรรค์วรรณกรรมมากมาย หลายแนว รวมทั้งนวนิยายรักต่างวัยที่แสนจะประณีต ละเมียดละไม และกินใจเอามากๆ เล่มนี้ ข้างหลังภาพ ถูกเขียนขึ้น ทยอยลงเป็นตอนๆ ในช่วงปี 2480 หลังกลับจากดูงานหนังสือพิมพ์นาน 6 เดือนที่ญี่ปุ่น

การพบกันของ ม.ร.ว. กีรติกับนพพรอยู่ในวิสัยที่อาจเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ แม้ในปัจจุบันจะหาสตรีงามพร้อม ดีพร้อม ที่ถูกเก็บงำไว้จนเลยวัยเหมาะสมจะออกเรือนเช่นคุณหญิงกีรติน้อยลง ยุคนี้ผู้หญิงเราอาจจะออกเรือนเมื่อไหร่ก็ได้ที่เราต้องการ และไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ชายมาทาบทามขอด้วย ถ้าเราพอใจจะเป็นฝ่ายดำเนินเรื่องก่อนได้ แต่เอาเป็นว่าเรื่องราวมันเริ่มต้นขึ้นจากความงดงามที่น่าประทับใจของคุณหญิง ภริยาเพื่อนพ่อผู้มีวัยสูงกว่าเด็กหนุ่มนี่เอง การพบกันของคู่ต่างวัยแบบนี้เกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ใช่ไหมล่ะ? (ขอออกตัวว่าเรื่องนี้ดูไม่เข้าใครออกใคร แต่มันไม่เกี่ยวกับตัวฉันหรอกนะ)

ไม่ว่า ม.ร.ว.กีรติ จะเป็นบุคลิกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากไหนก็ตาม ต้องขอแสดงความขอบคุณผู้เขียนอย่างจริงใจที่ได้สร้างตัวละครซึ่งน่าจดจำนี้ขึ้นมา ฉันไม่มีข้อกังขาแม้แต่น้อยระหว่างที่อ่านว่าเหตุใดหนุ่มน้อยเช่นนพพรจึงหลงรักคุณหญิงอย่างดื่มด่ำ ที่น่าประทับใจกว่าคือความรู้สึกที่คุณหญิงมีตอบ ศรีบูรพาสร้างสิ่งไร้ตัวตนเช่น ‘ความรักของกีรติ’ ขึ้นในมโนภาพของคนอ่านอย่างชัดเจน เป็นภาพของความสงบนิ่ง อบอุ่น มั่นคง และยิ่งใหญ่ ฉันพลอยยิ้มไปกับความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดีต่อความผาสุกที่คุณหญิงมีต่อ ‘ยอดเยาวมิตร’ ของเธอเสมอ อย่างเงียบๆ เรียบๆ ไม่ออกหน้าออกตา

ซึ่งตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบนพพรไม่ได้สำเหนียกเลย..

นพพร ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ศรีบูรพาสร้างขึ้นมาได้จริงราวกับมีตัวตนจริงๆ เด็กหนุ่มที่ตกหลุมรักสุภาพสตรีงดงามสมบูรณ์แบบคนแรกที่ได้เจอ ในเวลาอย่างนั้น ในบรรยากาศเช่นนั้น การแสดงความรักอันเร่าร้อน อ่อนไหวไปตามอารมณ์ ความรู้สึกเหมือนหลงทาง รอคอยความรักตอบ ความสับสน ที่ค่อยๆ เจือจาง หายไปกับระยะทางอันห่างไกล และความสนใจในชีวิตที่เปลี่ยนไป จนในที่สุดก็แทบจะลืมไปว่าเคยรู้สึกอย่างไร มากแค่ไหนกับผู้หญิงคนนี้

ฉันนับถือความรักของกีรติ ความเป็นผู้ใหญ่ คำพูดคำจาอ่อนโยน ฉลาดหลักแหลม การควบคุมตัวเอง และการตัดสินใจที่ถูกต้อง เหมาะสม อดไม่ได้เลยที่จะนำความรักต้องห้ามของเธอที่มีต่อนพพรไปเปรียบกับความรักของภัคคินีที่มีต่อนเรนทร์ เทียบกันแล้ว ความรักของกีรติเป็นรักที่เย็นฉ่ำ ยิ่งใหญ่ เพื่ออนาคตของคนรักแล้ว เธออดทน ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวที่อาจมีได้เพื่อไม่ให้เขาไขว้เขว และเรียนหนังสือต่อไปจนประสพความสำเร็จโดยรอคอยอยู่ในที่ทางของเธออย่างสงบเสงี่ยม ในขณะที่ภัคคินีผู้มีความรักเหมือน ‘โคถึกที่คึกพิโรธ’ เลือกที่จะกระโจนตามบัญชาของความรักลงไปในเหว เพียงเพื่อจะได้หลบหนีโลกไปอยู่กับคนรัก ไม่ว่าชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรเธอไม่แคร์ขอแค่มีวันนี้กับเขาเท่านั้น

ต่างมีความรักให้ผู้ชายของตัวเองอย่างลึกล้ำ ดื่มด่ำ ต่างฝ่ายต่างเสียสละ แต่ผู้หญิงสองคนนี้มีใครสมหวังกับความรักไหม? ..ไม่มีเลย ใช่เพราะต่างคนต่างจริงจังกับความรักที่มีให้เขามากมายตลอดมาอยู่เพียงฝ่ายเดียวหรือเปล่า?

ขณะที่ฝ่ายชายซึ่งร้อนรนมากมายในยามขอความรักจากเรา พร่ำบอกว่ารักเราเหลือเกิน ยอมทำได้ทุกอย่างขอแค่ได้ฟังคำรักจากเราสักครั้ง ยอมสละสมบัติและทุกสิ่งที่มีในชีวิตเพื่อที่จะได้ครองรักร่วมกับเรา

แต่พอเลยวันเวลานั้นมาไม่นาน เขาก็เปลี่ยนไปเสียแล้ว

หมายเหตุ:
-ขอบคุณ มด ฉันอ่าน ข้างหลังภาพ จบกับฉบับที่เธอส่งมานะจ๊ะ
-อ่านวรรณกรรมโบราณสองเรื่องติด คิดว่านักเขียนสมัยก่อนเขียนหนังสือเทพมาก คำเยอะมาก ประณีตมาก เป็นนายภาษาชนิดที่เขียนอะไรมาก็เชื่อหมดเลย ทำได้ยังไง ทึ่ง!
-ควรจะหางานอื่นๆ ของศรีบูรพาอ่านอีก เพื่อเติมปัญญาใส่สมองอีกนิด รวมทั้ง สาวทรงเสน่ห์ (Pride and Prejudice แปลโดยจูเลียต- -ชนิด สายประดิษฐ์ คู่ชีวิตของศรีบูรพา) อีกเล่มที่ชอบและอ่านจบแล้ว
-แต่ไม่รู้สินะ ช่วงนี้คิดถึง ‘คำพิพากษา’ ตะหงิดๆ อย่างไรไม่ทราบ 😉

The Secret Life of Walter Mitty: The Secret Life of Sean O’Connell indeed

มาตรฐาน

Sean OConnell

ได้ดูเสียที The Secret Life of Walter Mitty หนังที่สร้างแรงบันดาลใจในการออกไปบ้างจากชีวิตเดิมๆ ที่แสนจะปลอดภัยและคุ้นเคยซึ่งเพื่อนหลายคนพูดถึง ซึ่งฉันก็ชอบนะ แต่โดยส่วนตัวฉันรักหนังเรื่องนี้ในส่วนที่มันปลุกความฝันเก่าๆ ที่ตัวเองหลงลืมไปเสียเฉยๆ ทริประห่ำที่ฉันกับเพื่อนเคยไป วิธีเดินทางแบบที่มานึกตอนนี้แล้วสงสัยว่าทำไปได้ยังไง นั่งรถไฟชั้นสาม ปูกระดาษหนังสือพิมพ์นอนใต้เก้าอี้ โบกรถโค้ก กางเต็นท์ผิงไฟ ร้องเพลงกับกีตาร์ใต้ฟ้าที่เต็มไปด้วยดาว วีรกรรมหัวหกก้นขวิดแบบนั้น ไม่น่าเชื่อว่าเคยทำมาแล้ว

หนังเรื่องก่อนๆ ของ เบน สติลเลอร์ ที่ดูมามักเป็นหนังตลกแบบ ฮากระจาย (Starsky & Hutch โคตรขำ) แต่พอมาถึง Walter Mitty มันนิ่ง สงบ ทรงพลัง น้อยแต่มาก จบได้ประทับใจ ไม่ใช่เพราะว่ามันแฮปปี้เอนดิ้ง แต่จบได้แบบที่ทำให้คนดูรู้สึกรักและเชื่อมั่นในตัวเอง เหมือนจะฮึดกล้าจัดเป้ดุ่มออกจากบ้านไปเจอโลกข้างนอกจริงๆ เสียเดี๋ยวนั้น ซึ่งมันดีนะ ในบรรดาหนังมากมายที่รอให้เราเลือกดู ควรมีหนังแบบนี้อยู่ด้วย และควรทำให้ดี ให้พอเหมาะพองาม ไม่พิถีพิถันบรรจงจัดเสิร์ฟแรงบันดาลใจกันเกินไป

ฉากที่กินใจฉัน มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือตอนเครื่องบินสีแดงกำลังจะแลนดิ้งลงบนเกาะสีฟ้า (กรีนแลนด์) ตอนนั้นเลยที่มันฟีลแบบ เฮ้ย ถึงปลายทางแล้ว อดนึกถึงการแลนดิ้งของบางกอกแอร์เวยส์ เอเชียสบูตีคแอร์ไลน์ยุคนึงไม่ได้ สายการบินนี้จะเปิดเพลงบีทเทิลส์เวอร์ชั่นกีตาร์แจ๊ส ช่วงนั้นฉันได้โดยสายบ่อยๆ พอเพลงดังทีไร นึกในใจ “ถึงบ้านแล้ว” ทุกที มีความสุขจัง

อีกตอนคือ ตอนวอลเตอร์เดินขึ้นภูเขาหิมาลัย ดั้นด้นไป (ดันมีสายเรียกเข้าจากเว็บหาคู่-มุกนี้น่ารักมาก ชอบ-และคุยกันอยู่นาน) จนไปหยุดหน้า Sean O’ Connell ซึ่งนั่งซุ่มรอถ่ายเสือดาวหิมะอยู่ ฌอน เพนน์ คงไม่ได้ตั้งใจจะขโมยซีนพี่เบน แต่เขาทำไปตั้งแต่ปรากฏตัวในภาพถ่ายบนโต๊ะทำงานของวอลเตอร์นู่นแล้ว จะเรียกว่ารัศมี ออร่า หรือคาริสม่า บารมี หรืออะไรของฌอน เพนน์ ก็ตามแต่ ฉันบอกตัวเองในนาทีนั้นว่า นี่มันควรจะเป็นหนังชื่อ The Secret Life of Sean O’ Connell ต่างหาก

ก็ช่างภาพฟรีแลนซ์นายนี้ไม่ใช่หรอที่ทำให้ วอลเตอร์ มิตตี้ ต้องออกเดินทางอีกครั้ง คนอะไรเท่ชะมัด ยังใช้ฟิล์ม ไม่ใช้มือถือ และไม่อยู่เป็นหลักแหล่งให้ตามตัวกันได้ง่ายๆ ที่เท่กว่านั้นคือการใช้ชีวิตของเขา ฌอนเรียกวอลเตอร์ไปดูเสือดาวหิมะตัวที่ซุ่มรออยู่ผ่านวิวไฟน์เดอร์ ซึ่งเหมือนจะมองกลับมาอย่างรู้จักกัน วอลเตอร์คงเดาว่าเดี๋ยวฌอนคงกดชัตเตอร์ ใช่สิ ยิ่งถ้าเป็นช่างภาพสัตว์ป่า DSLR คงกดรัวเก็บภาพจนได้อากัปกริยาครบหมดทุกๆ 1/16 วินาทีไปแล้ว แต่ฌอนยังเฉย ดูบทสนทนาตอนนี้นะ

Walter Mitty: When are you going to take it?
Sean O’Connell: Sometimes I don’t. If I like a moment, for me, personally, I don’t like to have the distraction of the camera. I just want to stay in it.
Walter Mitty: Stay in it?
Sean O’Connell: Yeah. Right there. Right here.

ไม่ใช่วอลเตอร์ มิตตี้ หรอก ที่ทำให้ฉันอยากออกไปใช้ชีวิตแบบ “Life is about courage and going into the unknown.” (อย่างที่เชอริลพูด) แต่เป็น ฌอน โอ’ คอนเนล ที่ทำให้ฉันอยากออกไปอยู่ตรงนั้น เป็นส่วนหนึ่ง มองเห็นและสัมผัสโลกอย่างที่มันเป็น โดยไม่มีอะไรขวางกั้นจริงๆ สักครั้ง

บางทีก็อยากมีบางส่วนของชีวิตที่เป็นส่วนตัวบ้าง